SACICT ลงพื้นที่ประสานงาน 'ครูช่างศิลปหัตถกรรม' สอนชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลผลิต ‘หน้ากากผ้า’ ด้วยผ้าทอชุมชนและผ้าฝ้ายจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ภายใต้ชื่อโครงการ 'หน้ากากจากหัวใจชุมชน' ชดเชยรายได้ที่หายไปช่วงควบคุมโควิด-19
การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบครั้งใหญ่ทั้งสภาพสังคมและเศรษฐกิจ คนไทยนับล้านในเมืองใหญ่สูญเสียงานและรายได้ในการดำรงชีวิต
เช่นเดียวกับประชาชนในพื้นที่ห่างไกลซึ่งพึ่งพาการเลี้ยงชีพด้วยการทำเกษตร ขายงานศิลปหัตถกรรม เมื่อผู้คนไม่สามารถใช้ชีวิตเดินทางท่องเที่ยวได้ตามปกติ ประกอบกับภาวะภัยแล้ง ทำให้การดำรงชีวิตยิ่งฝืดเคือง
โชคดีที่การสวม หน้ากากผ้า และ หน้ากากอนามัย ไม่ใช่เรื่องที่โน้มน้าวใจได้ยากลำบากสำหรับคนไทยเพื่อป้องกันโรคระบาดนี้ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT (ศักดิ์สิทธิ์) ซึ่งมีภารกิจสืบสานพระราชปณิธานใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการส่งเสริมสนับสนุนงานศิลปาชีพและงานศิลปหัตถกรรมในท้องถิ่นต่างๆ จึงได้ลงพื้นที่ไปส่งเสริมการผลิต ‘หน้ากากผ้า’ ภายใต้ชื่อโครงการ หน้ากากจากหัวใจชุมชน แก่ชาวบ้านและประชาชนในพื้นที่ห่างไกล
การทำ ‘หน้ากากจากหัวใจชุมชน’ ใช้ ผ้าฝ้าย จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาเป็นวัตถุดิบ นำมาออกแบบ-ตัดเย็บโดยฝีมือชาวบ้านในชุมชนหัตถกรรมที่มี ครูช่างศิลปหัตถกรรม เป็นศูนย์กลาง
ประเดิมแห่งแรกที่ ชุมชนหัตถกรรมย้อมผ้าสีธรรมชาติหนองบัวแดง ซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของชาวบ้าน 11 หมู่บ้าน ใน 2 อำเภอของจังหวัดชัยภูมิ คือ อำเภอหนองบัวแดง และ อำเภอเกษตรสมบูรณ์
ภายในชุมชนมีทั้งแรงงานหนุ่มสาวซึ่งเดินทางกลับภูมิลำเนาจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลุ่มผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน รวมทั้งผู้พิการ ซึ่งทุกกลุ่มสามารถเข้ามาร่วมโครงการได้ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการประกาศ ‘พระราชกำหนดฉุกเฉิน’ ทำให้ประชาชนต้องอยู่ในที่พักอาศัย เป็นโอกาสที่เอื้อให้ใช้เวลาว่างมาทำงานศิลปหัตถกรรมที่บ้านเพื่อเพิ่มพูนรายได้
อนัญญา เค้าโนนกอก ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2554 ผู้นำชุมชนหัตถกรรมหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ เล่าว่า ตอนนี้ชาวบ้านเดือดร้อนมาก ไม่มีน้ำมาเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ไม่มีงานไม่มีเงิน เมื่อ ‘ศักดิ์สิทธิ์’ ส่งเสริมให้ทำหน้ากากทางเลือกหาตลาดให้ จึงเป็นโอกาสดีที่คนในหมู่บ้านได้มีงานทำมีรายได้มาจุนเจือครอบครัวในยามที่เกิดวิกฤติทั้งจากโควิดและภัยแล้ง
สำหรับจุดเด่นของหน้ากากผ้าของชุมชน คือนำ ผ้าของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ซึ่งสวยงามโดดเด่นด้วยสีสันอันเป็นเอกลักษณ์ มาออกแบบตัดเย็บร่วมกับ ผ้าฝ้ายออร์แกนิกจากฝ้ายที่ปลูกแบบไร้สารเคมีของชุมชน ผ่านกระบวน ‘การเข็นฝ้าย’ ด้วยมือและย้อมสีธรรมชาติจาก ประดู่ ครั่ง คำแสด คราม ขมิ้น และมะเกลือ
“เป็นหน้ากากแบบคละลายหลากสีสัน ผ่านการซักทำความสะอาดอย่างดีเพื่อตัดเย็บเป็นหน้ากาก 2 ชั้น มีช่องสำหรับใส่ Filter เพิ่มได้ เนื่องจากเป็นเส้นใยธรรมชาติ จึงสวมใส่สบายให้สัมผัสที่ดีและมั่นใจได้ว่าไม่ระคายเคืองผิวหนัง ที่สำคัญเป็นหน้ากากที่ทำด้วยหัวใจของชาวบ้านทุกคน” ครูอนัญญา กล่าว
นาย พรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีชาวบ้านร่วมโครงการจำนวนกว่า 200 ราย ในกว่า 85 หลังคาเรือน ดำเนินการผลิตในลักษณะต่างคนต่างทำที่บ้านของตนเองโดยไม่มีการรวมกลุ่ม มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 30,000 ชิ้นต่อเดือน โดยคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยครัวเรือนละ 8,000-12,000 บาทต่อเดือน
“หน้ากากผ้าจากหัวใจชุมชนสามารถนำไปซักและนำกลับมาใช้ได้ใหม่ ช่วยลดปริมาณขยะจากหน้ากากอนามัยใช้แล้วทิ้งอันจะเป็นการช่วยสิ่งแวดล้อมได้ด้วย ทั้งนี้ ‘ศักดิ์สิทธิ์’ ได้เร่งขยายโครงการไปยังชุมชนหัตถกรรมรวม 38 ชุมชนทั่วประเทศโดยตั้งเป้าหมายผลิตให้ได้ 500,000 ชิ้น” ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศฯ กล่าว
ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ภารดี วงศ์ศรีจันทร์ ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2555 ช่างเครื่องทอ ผ้าด้นมือ กล่าวว่า
“ปกติทำงานศิลปหัตถกรรมอยู่แล้ว เป็นงานด้นมือทำเป็นเครื่องนอน ทั้งผ้าห่ม ผ้าปูเตียง ผ้าคลุม หมอนอิงต่างๆ แต่เมื่อโควิดมา ทุกอย่างนิ่งไปหมด ไม่มีออร์เดอร์เลยแม้แต่รายเดียว เดือดร้อนกันมากค่ะ พอ ‘ศักดิ์สิทธิ์’ เข้ามาส่งเสริมเรื่องแนวพระราชดำริในสมเด็จพระพันปีหลวง ทำให้ครูเองและชาวบ้านได้เข้าใจและนำแนวทางศิลปาชีพมาทำหน้ากากทางเลือก โดยนำผ้าฝ้ายของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ มาผลิตเป็นหน้ากากพิมพ์และเขียนลายจากครามธรรมชาติ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดีมาก มียอดเข้ามาจนผลิตไม่ทัน เกิดการรวมกลุ่มกันของชาวบ้าน ขยายไปสู่ชุมชนรอบข้างมากขึ้น เพราะตอนนี้ทุกคนก็หยุดอยู่บ้านกัน มาหารายได้เพิ่มตรงนี้ ทำให้ชาวบ้านยิ้มออกค่ะ”
จากขอนแก่น สุภาณี ภูแล่นกี่ ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2556 เล่าว่า กลุ่มทอผ้าไหมมัดหมี่ บ้านหัวฝาย อ.ชนบท ทำอาชีพทอผ้าขายผ้ามานานตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า สำหรับลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านหัวฝาย คือ ลายหมากบก และ หมากจับ ผ้าทุกผืนมีลวดลายละเอียด ประณีต สีสันสวยงาม
“ศักดิ์สิทธิ์(SACICT)เข้ามาส่งเสริมให้เราภาคภูมิใจในความเป็นไทยและการเป็นส่วนหนึ่งที่ของการสืบทอดงานศิลปาชีพและหัตถกรรมไทยให้อยู่คู่คนไทย ยิ่งตอนโควิดระบาด ‘ศักดิ์สิทธิ์’ มาสนับสนุนให้เปลี่ยนรูปแบบจากการทอผ้าผืนขายมาเป็นการทำหน้ากากผ้าไหมแต้มหมี่ ซึ่งน่าดีใจมากว่าพอทำออกมาขาย ผู้บริโภคชอบมากสั่งซื้อเราจนผลิตแทบไม่ทัน ต้องขอบคุณคนไทยที่ไม่ทิ้งกัน ช่วยให้ชาวบ้านเดือดร้อนมีรายได้เลี้ยงชีพในยามลำบาก ต้องขอบคุณมากๆค่ะ”
จังหวัดกระบี่ ธนินทร์ธร รักษาวงศ์ ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2556 ผ้าบาติกโบราณ กล่าวว่า
“ภาคใต้เองก็ได้รับผลกระทบจากโควิดรุนแรง กระบี่ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวแต่หลายเดือนที่ผ่านมาไม่มีนักท่องเที่ยวเลย เศรษฐกิจท้องถิ่นหยุดชะงักหมด ชาวบ้านลำบากไม่มีงานทำไม่มีรายได้ แต่ภายใต้ความเดือดร้อนนี้เองที่ทั้งตัวครูเองและชาวบ้านได้เห็นความหวังเมื่อ ‘ศักดิ์สิทธิ์’ ได้นำแนวทางศิลปาชีพและหัตถกรรมท้องถิ่นมาให้เราได้ทำงาน เปลี่ยนจากการทำผ้าบาติกขายนักท่องเที่ยว มาเป็นการทำหน้ากากทางเลือก โดยใช้ภูมิปัญญาการทำผ้าบาติกลวดลายและสีสันจากธรรมชาติมาออกแบบ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของเรากลายเป็นคนไทยจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศที่ได้เข้ามาช่วยซื้อช่วยสนับสนุน ครูน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขณะเดียวกันก็ซาบซึ้งในน้ำใจคนไทยทุกคนค่ะ”
“สำหรับหน้ากากแห่งความสุขนี้เป็นที่น่ายินดีว่ามีภาคเอกชนเข้ามาช่วยสนับสนุน อาทิ แบรนด์กระทิงแดง ซึ่งหากภาคเอกชนใดสนใจสั่งซื้อเป็นจำนวนมากเพื่อนำไปดำเนินกิจกรรม CSR ของบริษัทสามารถแจ้งความประสงค์มายัง ‘ศักดิ์สิทธิ์’ ได้” ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศฯ กล่าว
ร่วมแบ่งปันความรู้สึกดีๆ ด้วยการสั่งซื้อหน้ากากแห่งความสุขนี้ได้ที่ แอพพลิเคชั่น SACICT Shop ทั้งระบบ IOS และ Android หรือโทร.1289
ช่วยต่อลมหายใจให้ชุมชนได้สามารถก้าวเดินต่อไปในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
-------------------
ภาพ : ศิรินทร์ทิพย์ ศรีใหม่
June 14, 2020 at 06:06AM
https://ift.tt/2zvxJ0b
หน้ากากผ้าต้านโควิดจากผ้าเอกลักษณ์ชุมชนทั่วไทย - กรุงเทพธุรกิจ
https://ift.tt/36HR5eA
Home To Blog
No comments:
Post a Comment